ภาษาไทย เป็นภาษาทางการของประเทศไทย และภาษาแม่ของชาวไทย และชนเชื้อสายอื่นในประเทศไทย ภาษาไทยเป็นภาษาในกลุ่มภาษาไต ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของตระกูลภาษาไท-กะได สันนิษฐานว่า ภาษาในตระกูลนี้มีถิ่นกำเนิดจากทางตอนใต้ของประเทศจีน และนักภาษาศาสตร์บางท่านเสนอว่า ภาษาไทยน่าจะมีความเชื่อมโยงกับตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับเสียงของคำแน่นอนหรือวรรณยุกต์เช่นเดียวกับภาษาจีน และออกเสียงแยกคำต่อคำ เป็นที่ลำบากของชาวต่างชาติเนื่องจาก การออกเสียงวรรณยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคำ และการสะกดคำที่ซับซ้อน นอกจากภาษากลางแล้ว ในประเทศไทยมีการใช้ ภาษาไทยถิ่นอื่นด้วย
เนื้อหา[ซ่อน]
|
ชื่อภาษาและที่มา
คำว่า ไทย หมายความว่า อิสรภาพ เสรีภาพ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ใหญ่ ยิ่งใหญ่ เพราะการจะเป็นอิสระได้จะต้องมีกำลังที่มากกว่า แข็งแกร่งกว่า เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึก แม้คำนี้จะมีรูปเหมือนคำยืมจากภาษาบาลีสันสกฤต แต่แท้ที่จริงแล้ว คำนี้เป็นคำไทยแท้ที่เกิดจากกระบวนการสร้างคำที่เรียกว่า 'การลากคำเข้าวัด' ซึ่งเป็นการลากความวิธีหนึ่ง ตามหลักคติชนวิทยา คนไทยเป็นชนชาติที่นับถือกันว่า ภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่บันทึกพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นภาษาอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคล เมื่อคนไทยต้องการตั้งชื่อประเทศว่า ไท ซึ่งเป็นคำไทยแท้ จึงเติมตัว ย เข้าไปข้างท้าย เพื่อให้มีลักษณะคล้ายคำในภาษาบาลีสันสกฤตเพื่อความเป็นมงคลตามความเชื่อของตน ภาษาไทยจึงหมายถึงภาษาของชนชาติไทยผู้เป็นไทนั่นเอง
ระบบเสียง
ระบบเสียงในภาษาไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
- เสียงพยัญชนะ
- เสียงสระ
- เสียงวรรณยุกต์
พยัญชนะ
พยัญชนะต้น
ภาษาไทยแบ่งแยกรูปแบบเสียงพยัญชนะก้องและพ่นลม ในส่วนของเสียงกักและเสียงผสมเสียดแทรก เป็นสามประเภทดังนี้
- เสียงไม่ก้อง ไม่พ่นลม
- เสียงไม่ก้อง พ่นลม
- เสียงก้อง ไม่พ่นลม
หากเทียบกับภาษาอังกฤษ โดยทั่วไปมีเสียงแบบที่สองกับสามเท่านั้น เสียงแบบที่หนึ่งพบได้เฉพาะเมื่ออยู่หลัง s ซึ่งเป็นเสียงแปรของเสียงที่สอง
เสียงพยัญชนะต้นโดยรวมแบ่งเป็น 21 เสียง ตารางด้านล่างนี้บรรทัดบนคือสัทอักษรสากล บรรทัดล่างคืออักษรไทยในตำแหน่งพยัญชนะต้น (อักษรหลายตัวที่ปรากฏในช่องให้เสียงเดียวกัน)
ริมฝีปาก ทั้งสอง | ริมฝีปากล่าง -ฟันบน | ปุ่มเหงือก | หลังปุ่มเหงือก | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | เส้นเสียง | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เสียงนาสิก | [m] ม | [n] ณ,น | [ŋ] ง | ||||||||||||
เสียงกัก | [p] ป | [pʰ] ผ,พ,ภ | [b] บ | [t] ฏ,ต | [tʰ] ฐ,ฑ,ฒ,ถ,ท,ธ | [d] ฎ,ด | [k] ก | [kʰ] ข,ฃ,ค,ฅ,ฆ* | [ʔ] อ** | ||||||
เสียงเสียดแทรก | [f] ฝ,ฟ | [s] ซ,ศ,ษ,ส | [h] ห,ฮ | ||||||||||||
เสียงผสมเสียดแทรก | [t͡ɕ] จ | [t͡ɕʰ] ฉ,ช,ฌ | |||||||||||||
เสียงรัวลิ้น | [r] ร | ||||||||||||||
เสียงเปิด | [j] ญ,ย | [w] ว | |||||||||||||
เสียงข้างลิ้น | [l] ล,ฬ |
- * ฃ และ ฅ เลิกใช้แล้ว ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าภาษาไทยสมัยใหม่มีพยัญชนะเพียง 42 ตัวอักษร
- ** อ ที่เป็นพยัญชนะต้นหมายถึงเสียงเงียบ และดังนั้นมันจึงถูกพิจารณาว่าเป็นเสียงกัก เส้นเสียง
พยัญชนะสะกด
ถึงแม้ว่าพยัญชนะไทยมี 44 รูป 21 เสียงในกรณีของพยัญชนะต้น แต่ในกรณีพยัญชนะสะกดแตกต่างออกไป สำหรับเสียงสะกดมีเพียง 8 เสียง และรวมทั้งไม่มีเสียงด้วย เรียกว่า มาตรา เสียงพยัญชนะก้องเมื่ออยู่ในตำแหน่งตัวสะกด ความก้องจะหายไป
ในบรรดาพยัญชนะไทย นอกจาก ฃ และ ฅ ที่เลิกใช้แล้ว ยังมีพยัญชนะอีก 6 ตัวที่ใช้เป็นตัวสะกดไม่ได้คือ ฉ ผ ฝ ห อ ฮ ดังนั้นมันจึงเหลือเพียง 36 ตัวตามตาราง
ริมฝีปาก ทั้งสอง | ริมฝีปากล่าง -ฟันบน | ปุ่มเหงือก | หลังปุ่มเหงือก | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | เส้นเสียง | ||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เสียงนาสิก | [m] ม | [n] ญ,ณ,น,ร,ล,ฬ | [ŋ] ง | |||||||
เสียงกัก | [p] บ,ป,พ,ฟ,ภ | [t] จ,ช,ซ,ฌ,ฎ,ฏ,ฐ,ฑ,ฒ, ด,ต,ถ,ท,ธ,ศ,ษ,ส | [k] ก,ข,ค,ฆ | [ʔ] * | ||||||
เสียงเสียดแทรก | ||||||||||
เสียงผสมเสียดแทรก | ||||||||||
เสียงรัวลิ้น | ||||||||||
เสียงเปิด | [j] ย | [w] ว | ||||||||
เสียงข้างลิ้น |
- * เสียงกัก เส้นเสียง จะปรากฏเฉพาะหลังสระเสียงสั้นเมื่อไม่มีพยัญชนะสะกด
กลุ่มพยัญชนะ
แต่ละพยางค์ในคำหนึ่ง ๆ ของภาษาไทยแยกออกจากกันอย่างชัดเจน (ไม่เหมือนภาษาอังกฤษที่พยัญชนะสะกดอาจกลายเป็นพยัญชนะต้นในพยางค์ถัดไป หรือในทางกลับกัน) ดังนั้นพยัญชนะหลายตัวของพยางค์ที่อยู่ติดกันจะไม่รวมกันเป็นกลุ่มพยัญชนะเลย
ภาษาไทยมีกลุ่มพยัญชนะเพียงไม่กี่กลุ่ม ประมวลคำศัพท์ภาษาไทยดั้งเดิมระบุว่ามีกลุ่มพยัญชนะ (ที่ออกเสียงรวมกันโดยไม่มีสระอะ) เพียง 11 แบบเท่านั้น เรียกว่า พยัญชนะควบกล้ำ หรือ อักษรควบกล้ำ
- /kr/ (กร), /kl/ (กล), /kw/ (กว)
- /kʰr/ (ขร,คร), /kʰl/ (ขล,คล), /kʰw/ (ขว,คว)
- /pr/ (ปร), /pl/ (ปล)
- /pʰr/ (พร), /pʰl/ (ผล,พล)
- /tr/ (ตร)
พยัญชนะควบกล้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจากคำยืมภาษาต่างประเทศ อาทิ อินทรา จากภาษาสันสกฤต พบว่าใช้ /tʰr/ (ทร), ฟรี จากภาษาอังกฤษ พบว่าใช้ /fr/ (ฟร) เป็นต้น เราสามารถสังเกตได้ว่า กลุ่มพยัญชนะเหล่านี้ถูกใช้เป็นพยัญชนะต้นเท่านั้น ซึ่งมีเสียงพยัญชนะตัวที่สองเป็น ร ล หรือ ว และกลุ่มพยัญชนะจะมีเสียงไม่เกินสองเสียงในคราวเดียว การผันวรรณยุกต์ของคำขึ้นอยู่กับไตรยางศ์ของพยัญชนะตัวแรก
สระ
เสียงสระในภาษาไทยแบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ สระเดี่ยว สระประสม และสระเกิน สะกดด้วยรูปสระพื้นฐานหนึ่งตัวหรือหลายตัวร่วมกัน (ดูที่ อักษรไทย)
สระเดี่ยว หรือ สระแท้ คือสระที่เกิดจากฐานเพียงฐานเดียว มีทั้งสิ้น 18 เสียง
| สระเดี่ยว | สระประสม |
สระประสม คือสระที่เกิดจากสระเดี่ยวสองเสียงมาประสมกัน เกิดการเลื่อนของลิ้นในระดับสูงลดลงสู่ระดับต่ำ ดังนั้นจึงสามารถเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สระเลื่อน" มี 3 เสียงดังนี้
- เ–ีย /iaː/ ประสมจากสระ อี และ อา
- เ–ือ /ɯaː/ ประสมจากสระ อือ และ อา
- –ัว /uaː/ ประสมจากสระ อู และ อา
ในบางตำราจะเพิ่มสระสระประสมเสียงสั้น คือ เ–ียะ เ–ือะ –ัวะ ด้วย แต่ในปัจจุบันสระเหล่านี้ปรากฏเฉพาะคำเลียนเสียงเท่านั้น เช่น เพียะ เปรี๊ยะ ผัวะ เป็นต้น
สระเสียงสั้น | สระเสียงยาว | สระเกิน | |||
---|---|---|---|---|---|
ไม่มีตัวสะกด | มีตัวสะกด | ไม่มีตัวสะกด | มีตัวสะกด | ไม่มีตัวสะกด | มีตัวสะกด |
–ะ | –ั–¹ | –า | –า– | –ำ | (ไม่มี) |
–ิ | –ิ– | –ี | –ี– | ใ– | (ไม่มี) |
–ึ | –ึ– | –ือ | –ื– | ไ– | ไ––⁵ |
–ุ | –ุ– | –ู | –ู– | เ–า | (ไม่มี) |
เ–ะ | เ–็– | เ– | เ–– | ฤ, –ฤ | ฤ–, –ฤ– |
แ–ะ | แ–็– | แ– | แ–– | ฤๅ | (ไม่มี) |
โ–ะ | –– | โ– | โ–– | ฦ, –ฦ | ฦ–, –ฦ– |
เ–าะ | –็อ– | –อ | –อ–² | ฦๅ | (ไม่มี) |
–ัวะ | (ไม่มี) | –ัว | –ว– | ||
เ–ียะ | (ไม่มี) | เ–ีย | เ–ีย– | ||
เ–ือะ | (ไม่มี) | เ–ือ | เ–ือ– | ||
เ–อะ | (ไม่มี) | เ–อ | เ–ิ–³, เ–อ–⁴ |
สระเกิน คือสระที่มีเสียงของพยัญชนะปนอยู่ มี 8 เสียงดังนี้
- –ำ /am, aːm/ ประสมจาก อะ ม (อัม) บางครั้งออกเสียงยาวเวลาพูด (อาม)
- ใ– /aj, aːj/ ประสมจาก อะ ย (อัย) บางครั้งออกเสียงยาวเวลาพูด (อาย)
- ไ– /aj, aːj/ ประสมจาก อะ ย (อัย) บางครั้งออกเสียงยาวเวลาพูด (อาย)
- เ–า /aw, aːw/ ประสมจาก อะ ว (เอา) บางครั้งออกเสียงยาวเวลาพูด (อาว)
- ฤ /rɯ/ ประสมจาก ร อึ (รึ) บางครั้งเปลี่ยนเป็น /ri/ (ริ) หรือ /rɤː/ (เรอ)
- ฤๅ /rɯː/ ประสมจาก ร อือ (รือ)
- ฦ /lɯ/ ประสมจาก ล อึ (ลึ)
- ฦๅ /lɯː/ ประสมจาก ล อือ (ลือ)
บางตำราก็ว่าสระเกินเป็นพยางค์ ไม่ถูกจัดว่าเป็นสระ
สระบางรูปเมื่อมีพยัญชนะสะกด จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปสระ สามารถสรุปได้ตามตารางด้านขวา
- ¹ คำที่สะกดด้วย –ะ ว นั้นไม่มี เพราะซ้ำกับ –ัว แต่เปลี่ยนไปใช้ เ–า แทน
- ² คำที่สะกดด้วย –อ ร จะลดรูปเป็น –ร ไม่มีตัวออ เช่น พร ศร จร ซึ่งก็จะไปซ้ำกับสระ โ–ะ ดังนั้นคำที่สะกดด้วย โ–ะ ร จึงไม่มี
- ³ คำที่สะกดด้วย เ–อ ย จะลดรูปเป็น เ–ย ไม่มีพินทุ์อิ เช่น เคย เนย เลย ซึ่งก็จะไปซ้ำกับสระ เ– ดังนั้นคำที่สะกดด้วย เ– ย จึงไม่มี
- ⁴ พบได้น้อยคำเท่านั้นเช่น เทอญ เทอม
- ⁵ มีพยัญชนะสะกดเป็น ย เท่านั้น เช่น ไทย ไชย
วรรณยุกต์
เสียงวรรณยุกต์ ในภาษาไทย (เสียงดนตรีหรือเสียงผัน) จำแนกออกได้เป็น 5 เสียง ได้แก่
เสียงวรรณยุกต์ | ตัวอย่าง | หน่วยเสียง | สัทอักษร |
---|---|---|---|
เสียงสามัญ (ระดับเสียงกลาง) | นา | /nāː/ | [naː˧] |
เสียงเอก (ระดับเสียงต่ำ) | หน่า | /nàː/ | [naː˩] |
เสียงโท (ระดับเสียงสูง-ต่ำ) | หน้า | /nâː/ | [naː˥˩] |
เสียงตรี (ระดับเสียงกลาง-สูง หรือ สูงอย่างเดียว) | น้า | /náː/ | [naː˧˥] หรือ [naː˥] |
เสียงจัตวา (ระดับเสียงต่ำ-กึ่งสูง) | หนา | /nǎː/ | [naː˩˩˦] หรือ [naː˩˦] |
ส่วน รูปวรรณยุกต์ มี 4 รูป ได้แก่
- ไม้เอก ( -่ )
- ไม้โท ( -้ )
- ไม้ตรี ( -๊ )
- ไม้จัตวา ( -๋ )
ทั้งนี้คำที่มีรูปวรรณยุกต์เดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมีระดับเสียงวรรณยุกต์เดียวกัน ขึ้นอยู่กับระดับเสียงของอักษรนำด้วย เช่น ข้า (ไม้โท) ออกเสียงโทเหมือน ค่า (ไม้เอก) เป็นต้น
ไวยากรณ์
ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด คำในภาษาไทยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปไม่ว่าจะอยู่ในกาล (tense) การก (case) มาลา (mood) หรือวาจก (voice) ใดก็ตาม คำในภาษาไทยไม่มีลิงก์ (gender) ไม่มีพจน์ (number) ไม่มีวิภัตติปัจจัย แม้คำที่รับมาจากภาษาผันคำ (ภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย) เป็นต้นว่าภาษาบาลีสันสกฤต เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูป คำในภาษาไทยหลายคำไม่สามารถกำหนดหน้าที่ของคำตายตัวลงไปได้ ต้องอาศัยบริบทเข้าช่วยในการพิจารณา เมื่อต้องการจะผูกประโยค ก็นำเอาคำแต่ละคำมาเรียงติดต่อกันเข้า ภาษาไทยมีโครงสร้างแตกกิ่งไปทางขวา คำคุณศัพท์จะวางไว้หลังคำนาม ลักษณะทางวากยสัมพันธ์โดยรวมแล้วจะเป็นแบบ 'ประธาน-กริยา-กรรม'
[แก้]การยืมคำจากภาษาอื่น
ภาษาไทยเป็นภาษาหนึ่งที่มีการยืมคำมาจากภาษาอื่นๆค่อนข้างสูงมาก มีทั้งแบบยืมมาจากภาษาในตระกูลภาษาไท-กะได ด้วยกันเอง และข้ามตระกูลภาษา โดยส่วนมากจะยืมมาจากภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ซึ่งมีทั้งรักษาคำเดิม ออกเสียงใหม่ สะกดใหม่ หรือเปลี่ยนความหมายใหม่ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน
บางครั้งเป็นการยืมมาซ้อนคำ เกิดเป็นคำซ้อน คือ คำย่อยในคำหลัก มีความหมายเดียวกันทั้งสอง เช่น
- ดั้งจมูก โดยมีคำว่าดั้ง เป็นคำในภาษาไต ส่วนจมูก เป็นคำในภาษาเขมร
- อิทธิฤทธิ์ มาจาก อิทธิ (iddhi) ในภาษาบาลี ซ้อนกับคำว่า ฤทธิ (ṛddhi) ในภาษาสันสกฤต โดยทั้งสองคำมีความหมายเดียวกัน
คำที่ยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต
คำจำนวนมากในภาษาไทย ไม่ใช้คำในกลุ่มภาษาไต แต่เป็นคำที่ยืมมาจากกลุ่มภาษาสันสกฤต-ปรากฤต โดยมีตัวอย่างดังนี้
- รักษารูปเดิม หรือเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
- วชิระ (บาลี:วชิระ [vajira]), วัชระ (สันส:วัชร [vajra])
- ศัพท์ (สันส:ศัพทะ [śabda]), สัท (เช่น สัทอักษร) (บาลี:สัททะ [sadda])
- อัคนี และ อัคคี (สันส:อัคนิ [agni] บาลี:อัคคิ [aggi])
- โลก (โลก) - (บาลี-สันส:โลกะ [loka])
- ญาติ (ยาด) - (บาลี:ญาติ (ยา-ติ) [ñāti])
- เสียง พ มักแผลงมาจาก ว
- เพียร (มาจาก พิริยะ และมาจาก วิริยะ อีกทีหนึ่ง) (สันส:วีรยะ [vīrya], บาลี:วิริยะ [viriya])
- พฤกษา (สันส:วฤกษะ [vṛkṣa])
- พัสดุ (สันส: [vastu] (วัสตุ); บาลี: [vatthu] (วัตถุ))
- เสียง -อระ เปลี่ยนมาจาก -ะระ
- หรดี (หอ-ระ-ดี) (บาลี:หรติ [harati] (หะระติ))
- เสียง ด มักแผลงมาจาก ต
- หรดี (หอ-ระ-ดี) (บาลี:หรติ [harati] (หะระติ))
- เทวดา (บาลี:เทวะตา [devatā])
- วัสดุ และ วัตถุ (สันส: [vastu] (วัสตุ); บาลี: [vatthu] (วัตถุ))
- กบิลพัสดุ์ (กะ-บิน-ละ-พัด) (สันส: [kapilavastu] (กปิลวัสตุ); บาลี: [kapilavatthu] (กปิลวัตถุ))
- เสียง บ มักแผลงมาจาก ป
- กบิลพัสดุ์ (กะ-บิน-ละ-พัด) (สันส: [kapilavastu] (กปิลวัสตุ); บาลี: [kapilavatthu] (กปิลวัตถุ))
- บุพเพ และ บูรพ (บาลี: [pubba] (ปุพพ))
ดูเพิ่ม
- อักษรไทย
- ไตรยางศ์
- คำราชาศัพท์
- คำที่มักเขียนผิด
- ภาษาในประเทศไทย
- วันภาษาไทยแห่งชาติ
- ภาษาวิบัติ
อ้างอิง
- กำชัย ทองหล่อ. หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น, 2533.
- นันทนา รณเกียรติ. สัทศาสตร์ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548. ISBN 978-974-571-929-3.
- อภิลักษณ์ ธรรมทวีธิกุล และ กัลยารัตน์ ฐิติกานต์นารา. 2549.“การเน้นพยางค์กับทำนองเสียงภาษาไทย” (Stress and Intonation in Thai ) วารสารภาษาและภาษาศาสตร์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (มกราคม – มิถุนายน 2549) หน้า 59-76
- สัทวิทยา : การวิเคราะห์ระบบเสียงในภาษา. 2547. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- Gandour, Jack, Tumtavitikul, Apiluck and Satthamnuwong, Nakarin.1999. “Effects of Speaking Rate on the Thai Tones.” Phonetica 56, pp.123-134.
- Tumtavitikul, Apiluck, 1998. “The Metrical Structure of Thai in a Non-Linear Perspective”. Papers presentd to the Fourth Annual Meeting of the Southeast Asian Linguistics Society 1994, pp.53-71. Udom Warotamasikkhadit and Thanyarat Panakul, eds. Temple,Arizona:Program for Southeast Asian Studies, Arizona State University.
- Apiluck Tumtavitikul. 1997. “The Reflection on the X’ category in Thai”. Mon-Khmer Studies XXVII, pp. 307-316.
- อภิลักษณ์ ธรรมทวีธิกุล. 2539. “ข้อคิดเกี่ยวกับหน่วยวากยสัมพันธ์ในภาษาไทย” วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ. 4.57-66.
- Tumtavitikul, Appi. 1995. “Tonal Movements in Thai”. The Proceedings of the XIIIth International Congress of Phonetic Sciences, Vol. I, pp. 188-121. Stockholm: Royal Institute of Technology and Stockholm University.
- Tumtavitikul, Apiluck. 1994. “Thai Contour Tones”.Current Issues in Sino-Tibetan Linguistics, pp.869-875. Hajime Kitamura et al, eds, Ozaka: The Organization Committee of the 26th Sino-Tibetan Languages and Linguistics,National Museum of Ethnology.
- Tumtavitikul, Apiluck. 1993. “FO – Induced VOT Variants in Thai”. Journal of Languages and Linguistics, 12.1.34 – 56.
- Tumtavitikul, Apiluck. 1993. “Perhaps, the Tones are in the Consonants?” Mon-Khmer Studies XXIII, pp.11-41.
แหล่งข้อมูลอื่น
- ภาษาไทยและอักษรไทย ที่ Omniglot (อังกฤษ)
- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น